กรณีศึกษา - บ้านที่เป็นหยิน

หยาง เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ พลังที่แข็งแกร่ง ความร้อน ความอบอุ่น การดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีชีวิตชีวา

หยิน เป็นสัญลักษณ์แทนโลก พระจันทร์ ความหนาวเย็น อ่อนนุ่ม ความไม่ดี ความเศร้าหมอง การดำรงชีวิตอย่างเฉื่อยชาเบื่อหน่าย  สมมติในยามที่เรามีอารมณ์เศร้าหมอง อารมณ์อิจฉาริษยา อารมณ์ชั่วร้ายทั้งปวง อารมณ์ขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นหยิน สภาวะการสร้างสรรค์ก็ไม่มี

บ้านของลูกศิษย์ท่านหนึ่ง เป็นลักษณะบ้านหยินโดยแท้ กล่าวคือ เป็นบ้านไม้อายุประมาณ 30 - 50 ปี มีต้นไม้ใหญ่รกครึ้มปกคลุมบ้าน ในบ้านมีไฟสลัวๆ

เมื่อ 20 ปีมาแล้ว บ้านหลังนี้คึกคัก ประกอบด้วย คุณพ่อ คุณแม่ และญาติพี่น้อง ซึ่งปัจจุบัน คุณพ่อ คุณแม่ เสียชีวิตหมดแล้ว ญาติพี่น้องก็แยกย้ายแต่งงานไปอยู่ที่อื่นหมด บ้านที่มีขนาดใหญ่ มีหลายห้อง ต้องถูกปิดตายเป็นบางส่วน เหลือส่วนที่คุณลูกศิษย์อาศัยอยู่และใช้สอยเป็นประจำ ได้แก่ บริเวณห้องพระ ห้องนอน ห้องรับแขก และห้องครัว ซึ่งลูกศิษย์ท่านนี้จัดไว้เป็นระเบียบมาก แต่ก็อยู่อย่างมืดๆ และเงียบๆ

แถมคุณลูกศิษย์ยังชอบสะสมของเก่าโบร่ำโบราณ ของแตกๆ หักๆ เพราะเธอชอบ ข้าพเจ้าสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่า เคยรู้สึกเหงาๆ ซึมๆ หรือว่าหน้าที่การงานมีปัญหาหรือเปล่า การเงินหดหายบ้างไหม คำตอบคือ ไม่เลย มีความสุขดีมาก

เราลองมาวิเคราะห์ดูว่า ทำไมลูกศิษย์ท่านนี้ จึงเป็นข้อยกเว้นของทฤษฎีที่ว่า ยิ่งหยินแรงเท่าไหร่ ชีวิตจะตกต่ำเท่านั้น

ลูกศิษย์ท่านนี้ มีบ้านที่เป็นหยินร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พฤติกรรมของเธอกับเป็นหยางโดยสิ้นเชิง

ประการแรก ลูกศิษย์ท่านนี้ทำงานโรงแรม ฝ่ายการตลาด ต้องเดินทางตลอด ชีวิตอยู่กับการเคลื่อนไหวและติดต่อ ประสานงาน ซึ่งมีความหมายเป็นหยางเต็มตัว ไม่จำเจอยู่กับที่

ประการที่สอง บ้านคุณลูกศิษย์เป็นบ้านแบบโบราณ มีนาฬิกาที่ใช้ลูกตุ้มแกว่งและนาฬิกานกเขาขันคู แสดงความเป็นหยางในบ้าน คือเสียงและการเคลื่อนไหว ชายคาของบ้านมีกระดิ่งโบราณติด จะมีเสียงดังกรุ๋งกริ๋งเพราะโดนลมพัดเกือบตลอดทั้งวัน

ประการที่สาม ลูกศิษย์ท่านนี้ประกอบบุญกุศล ถือศีล ฟังธรรม ทำบุญ มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ รับอุปการะส่งเด็กนักเรียนเรียนหนังสือถึง 5 คน จิตใจอิ่มบุญ อารมณ์ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์

เพียงแค่สามประการนี้ ส่งผลให้ตัวลูกศิษย์เป็นหยางโดยสมบูรณ์ จึงเกิดสภาวะสมดุลกลมกลืนกับบ้านซึ่งเป็นหยิน ทำเลนี้จึงไม่ต้องแก้ไข